site loader
site loader
10/06/2021 ราชวิทยาลัยฯ เคาะราคา “ซิโนฟาร์ม” 888 บาท แจง 4 เงื่อนไข องค์กร – หน่วยงาน ขอรับวัคซีน

ราชวิทยาลัยฯ เคาะราคา “ซิโนฟาร์ม” 888 บาท แจง 4 เงื่อนไข องค์กร – หน่วยงาน ขอรับวัคซีน

วันนี้ 9 มิถุนายน 2564 ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda แจ้งประกาศ  ถึงข้อกำหนดผู้ขอรับการจัดสรร“วัคซีนตัวเลือก” ซิโนฟาร์ม ระยะที่ ๑

มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1.เป็นองค์กรนิติบุคคลหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐ ( สำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้เป็นไปตามประกาศ ศบค เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ข้อ ๕)  องค์กรการกุศลและหน่วยงานเอกชน โดยจะพิจารณาการจัดสรรในระยะที่ ๑ ตามประเภทการดำเนินงานของหน่วยงาน (ความสำคัญด้านความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ) ระดับความเสี่ยงของโอกาสในการแพร่เชื้อให้กับสังคม และระดับความเสี่ยงโควิดบนพื้นที่ของทำเลที่ตั้งสถานประกอบการ

2.องค์กร/หน่วยงานสามารถจัดสรรวัคซีนให้แก่กลุ่มบุคคลที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนตัวเลือกได้ทุกประเภท ทั้งพนักงาน ครอบครัวพนักงานและแรงงานต่างชาติ แต่ไม่อนุญาตให้เรียกเก็บเงินค่าวัคซีนและค่าบริการอื่นๆ กับผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนได้และห้ามหาผลประโยชน์ทางการค้า ทั้งนี้ หากองค์กร/หน่วยงานใดฝ่าฝืนระเบียบตามข้อกำหนดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะดำเนินการปรับในอัตรา ๑๕ เท่าของมูลค่าวัคซีนที่ได้รับการจัดสรร

3.องค์กร / หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกยินดีร่วมช่วยเหลือสังคม ด้วยการบริจาควัคซีนตัวเลือก จำนวน ๑๐ % ของจำนวนวัคซีนตัวเลือกที่ได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อให้กับชุมชนผู้ด้อยโอกาส โดยรายละเอียดและขั้นตอนในเรื่องนี้จะแจ้งให้ทราบต่อไป

4.องค์กร / หน่วยงาน จะต้องประสานจัดหาโรงพยาบาลเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนตัวเลือก โดยโรงพยาบาลดังกล่าวจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือกกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย โดยค่าบริการฉีดวัคซีนนั้น สถานพยาบาลสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้กับองค์กร/หน่วยงานนั้นได้ แต่ห้ามเรียกเก็บจากผู้รับการฉีดเป็นอันขาด

สำหรับราคาวัคซีนตัวเลือก” ซิโนฟาร์ม  ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำหนดอยู่ที่ ราคาเข็มละ ๘๘๘ บาท อัตราดังกล่าวรวมค่าวัคซีน ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษาพร้อมประกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากวัคซีนแล้ว แต่ไม่รวมค่าบริการของโรงพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลที่ทางองค์กร / หน่วยงานติดต่อประสานเพื่อการบริการฉีดวัคซีน

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนในระยะที่สองสำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะเข้ารับการฉีดวัคซีนตัวเลือกนี้ จะประกาศให้ทราบต่อไป หลังจากตรวจสอบระบบความปลอดภัย และการเชื่อมต่อข้อมูลกับสถานพยาบาลแล้ว

ทั้งนี้ ข้อกำหนด ผู้ขอรับการจัดสรร“วัคซีนตัวเลือก” ซิโนฟาร์ม ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เกิดขึ้นภายหลังจาก ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยระบุใจความ …ว่าเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชน และภาคเอกชนอาจจัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีน จากหน่วยงานหลัก เช่น กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือ หน่วยงานของรัฐ ได้ ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

รวมถึง ปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ได้จากหน่วยงานข้างต้นเช่นกัน โดยให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด

ที่มา https://www.thansettakij.com/content/covid_19/483195

Related Post
ไฟเซอร์

กระทรวงสาธารณสุข ขอจัดส่งวัคซีนโควิด 19 ไฟเซอร์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อลดการป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต

Covid-19

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ให้สัมภาษณ์ถึงการเพิ่มมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย หลังจากเริ่มพบเชื้อกลายพันธุ์ “โอไมครอน”

ดีอีเอส

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กล่าวว่า ได้เชิญผู้ให้บริการมารับทราบคำสั่งศาลที่มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์